ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541บัญญัติ ไว้ว่า ผู้บริโภคนั้นหมายถึง ผู้ซื้อสินค้า หรือ ผู้ที่ได้รับการจูงใจ หรือ การชักชวนจากผู้ประกอบกิจการด้านธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้า ทั้งยังหมายถึง ผู้ซื้อสินค้า หรือ ผู้รับบริการจากผู้ประกอบการทางด้านธุรกิจโดยสุจริต แม้จะยังไม่ได้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
และในมาตรานี้ ยังให้คำนิยามของ ผู้ประกอบกิจการด้านธุรกิจ ว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อนำไปขายผู้สั่ง หรือ นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อทำการค้าขาย หรือ ผู้ซื้อเพื่อนำสิ้นค้าขายต่อ หรือเป็นผู้ให้บริการ และทั้งยังรวมถึงผู้ประกอบกิจการด้านโฆษณา
ความหมายของ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คนในทุกๆสังคม โดยจะเกี่ยวข้องกการใช้บริการ และ การใช้สินค้า เช่น มนุษย์มีความต้องการอาหาร ยารักษาโรค มนุษย์จำเป็นต้องใช้บริการรถโดยสาร รถประจำทาง เครื่องบิน เป็นต้น เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ตนเอง เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อสื่อสาร การใช้เอทีเอ็ม ดังนั้น การใช้บริการต่างๆ หรือ การบริโภค จำเป็นต้องได้มีคุณภาพอย่างถูกต้อง และ ได้มาตรฐานตามที่ผู้ผลิตได้โฆษณาเอาไว้ จึงทำให้ รัฐบาลซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้คุ้มครองดูแลประชาชน เมื่อไหร่ก็ตามที่พบว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายจากการใช้สินค้า และ บริการ จะต้องรีบเข้ามาคุ้มครอง และ แก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างทันท่วงทีให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้ ยังมี ศ.ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ยังให้ความหมายของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคว่า คือกฎหมายหนึ่งที่มุ่งที่จะคุ้มครองแก่ประโยชน์ของผู้บริโภค กฎหมายใดก็ตามที่มีส่วนคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ประกอบกิจการธุรกิจซึ้งเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีหลากหลายฉบับ ไม่เพียงแค่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคเพียงแค่ฉบับเดียวเท่านั้น[1] หากแต่กฎหมายในแต่ละฉบับจะมีอำนาจหน้าที่ในการมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมีหน่วยงานราชการซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ซึ่งหน่วยราชการดังที่กล่าวมาจะกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยตรง
1.1 สิทธิจะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำติชมคุณภาพที่ถูกต้องในสินค้าหรือบริการ
1.2 สิทธิในการได้อิสระในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการ
1.3 สิทธิในการได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
1.4 สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมจากสัญญาหรือการทำสัญญา
1.5 สิทธิที่จากการที่จะได้รับการพิจารณาและเยียวยาความเสียหาย
2. กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคมีหลักเกณฑ์และหน้าที่
ส่วน หน้าที่ สามารถทำได้โดยการเข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการด้านธุรกิจที่ผลิตทำการสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม และความปลอดภัยต่อการเลือกใช้สินค้าและต่อการรับบริการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
2.1 กฎหมายคุ้มครองเพื่อที่จะให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าและรับบริการ
2.2 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อที่จะให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการบริโภคสินค้าและรับบริการ
- หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคมีหลายแบบและกระจายออกไปตามประเภทของการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น
1. ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจาก อาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สังกัดของกระทรวงสาธารณาสุข ที่จะต้องเข้ามาดูแลประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย
2. ในกรณีที่ประชาชนมีความเดือดร้อนเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาดูแล
3. ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น จัดสรรที่ดิน อาคารชุด เป็น หน้าที่ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ที่จะเข้ามาให้ความดูแล
4. ในกรณีที่ประชาชนมีความเดือดร้อนเกี่ยวกับด้านคุณภาพ หรือ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เป็นธรรม เป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาดูแลกำกับ
5. ในกรณีที่ประชาชนได้มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับ ประกันชีวิต หรือ ด้านประกันภัย เป็นหน้าที่ของกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลประชาชน
นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งหน้าที่ของผู้บริโภคที่ควรปฏิบัติ คือ
1) ผู้บริโภคต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อสินค้าหรือเข้ารับบริการ เช่น ตรวจสอบฉลาก
2) การเข้าทำสัญญาตามกฎหมาย โดยการลงลายมือชื่อ ต้องตรวจสอบความถูกต้องและชัดเจนในสัญญา อย่างละเอียด
3) ผู้บริโภคมีหน้าที่เก็บหลักฐานเอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการที่จะสามารถกลับมาเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นแก่ตน
4) เมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิของตน ผู้บริโภคควรทำการเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือต่อคณะกรรมการที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง[2]
วิธีการคุ้มครองผู้บริโภค
ตามหลักทั่วไป ในมาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ว่าด้วยการใดกฎหมายบัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่
1.ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคโดยการส่วนรวม หากว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว มิได้มีการดำเนินการหรือดำเนินการยังไม่ครบขั้นตอนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และยังมิได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรรมการเฉพาะเรื่องหรือคณะกรรมการเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งตามความในหมวดนี้
2. ในกรณีตาม ข้อ 1 ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจปล่อย ให้เนิ่นช้าต่อไปได้ ให้คณะกรรมการเฉพาะเรื่องหรือคณะกรรมการเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งตามความในหมวดนี้ได้โดยไม่ต้องมีหนังสือแจ้งหรือรอให้ครบกำหนด 90 วัน ตามเงื่อนไขใน ข้อ 1[3]
หลักทั่วไปของการบังคับใช้กฎหมาย
เมื่ออมีกฎหมายฉบับใดได้ให้อำนาจกระทำการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการเฉพาะแล้ว ต้องมีการบังคับตามกฎหมายฉบับนั้นด้วย เช่น กรณีที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิในเรื่องอาหาร ผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ในการขอรับการคุ้มครองเรื่องสินค้าอาหารเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีกฎหมายใด หรือ หน่วยงานใดระบุว่าให้ความคุ้มครองเป็นการเฉพาะแล้วจึงต้องใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งให้ความคุ้มครองในด้านสินค้าและบริการทั่วไป
เมื่อผู้บริโภคโดนละเมิดสิทธิ หรือ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบกิจการธุรกิจเพราะเหตุจากการใช้สินค้าหรือบริการ ผู้นั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยสามารถทำการร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำจังหวัด หรือจากหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว จะเรียกให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาท และ ชดใช้ค่าเสียหายได้ ซึ่งหากไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็มีอำนาจในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522จะ เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่มีอำนาจในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภค เพื่อฟ้องเอาค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการใช้สินค้าและการรับบริการ โดยผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการดำเนินคดี[4]
....................................................................................
[1]ศ.ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
[2] http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1751-00/
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
ไพศาล ภู่ไพบูลย์ อังคณา ตติรัตน์ และปนัดดา มีสมบัติงาม. หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
[3] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
ไพโรจน์ อาจรักษา,คำอธิบายกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับชาวบ้าน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2543.
รักษวร ใจสะอาด.2549 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection Law).
[4] ข้อมูลจาก http://www.thaigoodview.com/ และ http://www.ocpb.go.th/